ปวดหลัง

ปวดหลัง (Backache) เป็นอาการปวดเมื่อย ตึง ร้าว หรือเจ็บที่หลัง สามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่บริเวณคอลงไปจนถึงก้นและขา ส่งผลมาจากหลายสาเหตุ เช่น กิจกรรมในชีวิตประจำวัน ยืน เดินหรือนั่งไม่ถูกท่า ยกของหนักเกินไป อุบัติเหตุ การกระแทก การเล่นกีฬา หรือเป็นผลมาจากโรคต่าง ๆ ปวดหลังเป็นอาการที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ไม่ใช่แค่กับผู้สูงอายุเท่านั้นที่จะเผชิญกับอาการปวดหลัง แต่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะคนวัยทำงาน

สาเหตุของอาการปวดหลัง

อาการปวดหลังสามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น การทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน การทำท่าทางที่ไม่ถูกต้องสะสมเป็นเวลานาน การเคล็ดขัดยอก การตึง การอักเสบของกล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็นบริเวณหลัง ปัญหาของหมอนรองกระดูก ปัญหาของกระดูกสันหลังและเส้นประสาท ปัญหาจากโรค หรืออาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ซึ่งอาการปวดหลังจะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของร่างกายและการดำเนินชีวิตประจำวัน

อาการปวดหลัง มีกี่แบบ

ถ้าแบ่งตามช่วงเวลาของอาการ อาการปวดหลัง อาจเกิดแบบ

  • ปวดฉับพลัน (Acute: ปวดหลังต่อเนื่องน้อยกว่า 6 สัปดาห์)
  • กึ่งเฉียบพลัน (Subacute: ปวดหลังต่อเนื่อง 6-12 สัปดาห์)
  • ปวดเรื้อรัง (Chronic: ปวดหลังต่อเนื่องนานกว่า 12 สัปดาห์)

 

 

โดยสาเหตุหรือกลุ่มโรคที่ทำให้ผู้ป่วยมาอาการปวดหลัง ได้แก่

  • กล้ามเนื้อหรือเอ็นอักเสบ (Muscle Strain or Ligament Sprain) การอักเสบของกล้ามเนื้อและเอ็นบริเวณหลัง พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับกิจกรรมที่หนักเกินไป เช่น ก้มตัวยกของหนัก การนั่งอยู่ท่าเดิมนานๆ การเคลื่อนไหวผิดท่าด้วยความรวดเร็ว รวมถึงการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา
  • โรคของหมอนรองกระดูก ภาวะหมอนรองกระดูกเสื่อมเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหลังเรื้อรัง และมักมีอาการซ้ำได้บ่อยๆ ส่วนอาการปวดหลังร่วมกับอาการทางระบบประสาท เช่น ปวดร้าวลงขา ขาชา หรืออ่อนแรง มักสัมพันธ์กับภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
  • อาการปวดหลังที่สัมพันธ์กับความเสื่อมของกระดูกสันหลัง ได้แก่ ภาวะกระดูกพรุน ภาวะกระดูกสันหลังคด หรือค่อม ผิดรูป
  • ภาวะปวดหลังจากสาเหตุอื่นๆ
    • ปวดหลังจากกระดูกหัก ไม่ว่าจะเป็นการหักแบบธรรมชาติ (Physiologic Fracture) ได้แก่ กระดูกสันหลังหักจากอุบัติเหตุทั่วๆ ไป หรือ กระดูกหักแบบผิดธรรมชาติ (Pathologic Fracture) เช่นกระดูกหักจากการติดเชื้อกระดูกสันหลัง วัณโรคกระดูกสันหลัง หรือหักจากเนื้องอก มะเร็ง
    • ปวดหลังจากการข้อต่ออักเสบ (Arthritis) เช่น ข้อต่อแฟเซทอักเสบ (Facet Arthritis) การอักเสบระหว่างข้อต่อที่เชื่อมกระดูกสันหลังและเชิงกราน (SI Joint Arthritis) ปวดหลังจากโรคข้อต่อหลังเชื่อมติดกัน (Ankylosing Spondylitis)
    • ปวดหลังจากการติดเชื้อของกระดูกสันหลัง
    • ปวดหลังจากเนื้องอก หรือมะเร็งกระดูก